NDID คืออะไร รู้จักเทคโนโลยีการยืนยันตัวตนแบบดิจิทัล ลงทะเบียนง่าย ๆ ผ่านแอปฯ

          NDID คืออะไร มีข้อดียังไง มาทำความรู้จักกับเทคโนโลยียืนยันตัวแบบดิจิทัล และวิธีลงทะเบียน NDID ต้องทำอย่างไรบ้าง
NDID

          ในการทำธุรกรรมทางการเงินส่วนใหญ่จำเป็นต้องมีการยืนยันตัวตน ซึ่งผู้ทำธุรกรรมอาจต้องเดินทางไปที่สาขาธนาคารหรือสำนักงานของสถาบันการเงินนั้น ๆ เพื่อยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชน จึงอาจไม่ได้รับความสะดวกเท่าไรนัก เพราะทั้งเสียเวลาและค่าเดินทาง แต่ในปัจจุบันได้มีเทคโนโลยีชื่อว่า NDID ที่เป็นการยืนยันตัวตนแบบดิจิทัล ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาและทำให้การทำธุรกรรมนั้นสะดวกรวดเร็วมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนใครที่ยังไม่รู้ว่า NDID คืออะไร และมีข้อดีอย่างไรบ้าง วันนี้เราจะมาให้ข้อมูลในเรื่องนี้กัน

NDID คืออะไร

          NDID หรือ National Digital ID คือ การพิสูจน์ยืนยันตัวตนของผู้ใช้บริการบนโลกดิจิทัลด้วยการเปรียบเทียบใบหน้า สามารถใช้ในการทำธุรกรรมออนไลน์ต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน เช่น การเปิดบัญชีเงินฝากออนไลน์ การเปิดบัญชีหุ้น กองทุนรวม การสมัครขอสินเชื่อออนไลน์ การสมัครประกันออนไลน์ เป็นต้น โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่สาขาธนาคารหรือสถาบันทางการเงินเพื่อยืนยันตัวตน

          ทั้งนี้ บริการ NDID นับว่ามีความปลอดภัยสูงตามมาตรฐานสากล เพราะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ที่มีการเข้ารหัส โดยอยู่ในความดูแลของบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด ซึ่งข้อมูลจะยังคงอยู่กับหน่วยงานที่เราได้ให้ข้อมูลไว้ ทางบริษัท NDID ไม่สามารถเห็นข้อมูลได้

NDID มีข้อดีและประโยชน์อย่างไร

NDID

  • เพิ่มความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมออนไลน์ เพราะการยืนยันตัวตนแบบดิจิทัลใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้า (Facial Recognition) จึงมีความปลอดภัยสูงกว่าการยืนยันตัวตนด้วยสำเนาบัตรประชาชน
  • เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการทำธุรกรรมและสมัครบริการต่าง ๆ เพราะสามารถเลือกยืนยันตัวตนแบบ NDID อย่างการสแกนใบหน้าผ่านแอปฯ ได้ ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปที่สาขา
  • ลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายทั้งค่าเดินทาง ลดการกรอกข้อมูล และลดการใช้ปริมาณเอกสารกระดาษในการทำธุรกรรมต่าง ๆ เนื่องจากสามารถลงทะเบียนใช้บริการ NDID ได้ฟรีผ่านแอปพลิเคชัน 
  • สามารถทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินอื่น ๆ โดยเลือกใช้ระบบยืนยันตัวตนของสถาบันการเงินที่เคยลงทะเบียน NDID ไว้แล้วได้ เช่น เคยลงทะเบียน NDID ไว้กับธนาคาร A หากเราต้องการเปิดบัญชีออนไลน์กับธนาคาร B ก็สามารถใช้การยืนยันตัวตนผ่าน NDID ของธนาคาร A เพื่อเปิดบัญชีกับธนาคาร B ได้เลย โดยไม่ต้องเดินทางไปติดต่อที่สาขาของธนาคาร B

ใครบ้างที่สามารถลงทะเบียน NDID ได้

          โดยทั่วไปแล้วผู้ที่มีสัญชาติไทยทุกคนสามารถลงทะเบียนบริการยืนยันตัวตนแบบ NDID ได้ ด้วยการลงทะเบียนผ่านแอปฯ หรือช่องทางตามที่แต่ละสถาบันการเงินกำหนด ซึ่งอาจมีการกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ลงทะเบียนหรือเงื่อนไขอื่น ๆ เพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินนั้น ๆ

วิธีลงทะเบียน NDID ต้องทำอย่างไร

          การลงทะเบียน NDID สามารถทำได้หลากหลายช่องทาง โดยขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบันการเงินผู้ให้บริการ โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่องทางหลัก ๆ ดังนี้

ลงทะเบียนผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร

  1. ไปที่เคาน์เตอร์ธนาคารสาขาที่ให้บริการ
  2. แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าต้องการลงทะเบียน NDID พร้อมยื่นบัตรประชาชน
  3. ทำตามขั้นตอนที่เจ้าหน้าที่แนะนำ เช่น
  • กรอกข้อมูลลงในระบบ หรือเสียบบัตรประชาชนเข้ากับเครื่องอ่านบัตร
  • ถ่ายรูปเพื่อเปรียบเทียบใบหน้าและยืนยันตัวตน
  • ยอมรับเงื่อนไขและข้อตกลงการใช้บริการ NDID
  • เปิดใช้บริการ Mobile Banking ที่ผูกกับ NDID

ลงทะเบียนผ่านแอปฯ ของธนาคาร

  1. เข้าไปที่แอปฯ Mobile Banking ของธนาคารที่ใช้บริการ
  2. กดเลือกเมนูบริการ NDID
  3. ระบบจะทำการตรวจสอบ เก็บรวบรวมข้อมูลในฐานข้อมูล และแนะนำขั้นตอนในการลงทะเบียน เช่น กรอกข้อมูลเพิ่มเติม ถ่ายรูป และยอมรับเงื่อนไขการใช้บริการระบบ เป็นต้น

วิธีลงทะเบียน NDID ของธนาคารต่าง ๆ

NDID

          สำหรับคนที่ต้องการสมัครบริการ NDID ของธนาคารต่าง ๆ สามารถเข้าไปอ่านขั้นตอนการลงทะเบียนได้ที่ลิงก์ด้านล่างนี้

  • ลงทะเบียน NDID ธนาคารกสิกรไทย (คลิก)
  • ลงทะเบียน NDID ธนาคารไทยพาณิชย์ (คลิก)
  • ลงทะเบียน NDID ธนาคารทหารไทยธนชาต (คลิก)
  • ลงทะเบียน NDID ธนาคารกรุงไทย (คลิก)
  • ลงทะเบียน NDID ธนาคารกรุงเทพ (คลิก)
  • ลงทะเบียน NDID ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (คลิก)
  • ลงทะเบียน NDID ธนาคารออมสิน (คลิก)
  • ลงทะเบียน NDID ธนาคาร ธ.ก.ส. (คลิก)
  • ลงทะเบียน NDID ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (คลิก)
  • ลงทะเบียน NDID ธนาคารทิสโก้ (คลิก)
  • ลงทะเบียน NDID ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (คลิก)
  • ลงทะเบียน NDID ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (คลิก)

วิธีตรวจสอบว่ามี NDID กับธนาคารไหนอยู่

          หลายคนอาจจะเคยสมัคร NDID มาก่อนแล้ว แต่จำไม่ได้ว่าเคยลงทะเบียนไว้กับธนาคารไหน ซึ่งสามารถตรวจสอบด้วยตัวเองได้ โดยการเปิดแอปฯ ของแต่ละธนาคาร แล้วเลือกเมนูเกี่ยวกับบริการ NDID ถ้าหากเคยลงทะเบียนกับธนาคารนั้นแล้ว ระบบจะแสดงรายละเอียดข้อมูลการลงทะเบียน แต่ถ้าหากยังไม่เคยลงทะเบียนก็จะมีข้อความแจ้งหรือแสดงปุ่มให้กดเพื่อลงทะเบียน

          อย่างไรก็ตาม ในบางธนาคารอาจไม่สามารถตรวจสอบผ่านแอปฯ ได้ แต่หากมีการคำขอการยืนยันตัวตนจากบริการอื่น ๆ ก็จะมีการแจ้งเตือนจากแอปฯ ของธนาคารที่เคยลงทะเบียน NDID ไว้แสดงขึ้นมาเช่นกัน

ยกเลิก NDID ต้องทำอย่างไร

          สำหรับผู้ที่ได้ทำการลงทะเบียน NDID ไปแล้ว และต้องการเปลี่ยนใจยกเลิกการใช้งาน NDID สามารถยกเลิกได้ในแอปฯ ของธนาคารที่ได้ทำการลงทะเบียนไว้ โดยให้เข้าไปที่เมนูในส่วนของบริการ NDID แล้วเลือกเปลี่ยนแปลง/แก้ไข เพื่อยกเลิกบริการ ซึ่งเมนูของแต่ละแอปฯ อาจมีความแตกต่างกันไป โดยสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ใช้บริการอยู่

          ทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องน่ารู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยียืนยันตัวตน NDID ที่จะช่วยให้การทำธุรกรรมการเงินต่าง ๆ มีความสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับหลาย ๆ คน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำธุรกรรมออนไลน์เป็นประจำ

บทความที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมออนไลน์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
NDID คืออะไร รู้จักเทคโนโลยีการยืนยันตัวตนแบบดิจิทัล ลงทะเบียนง่าย ๆ ผ่านแอปฯ อัปเดตล่าสุด 6 มิถุนายน 2566 เวลา 14:09:49 25,859 อ่าน
TOP
x close