อัตราภาษีเงินได้
บุคคลธรรมดา 2567
วิธีคำนวณภาษีเงินได้
บุคคลธรรมดา 2567
1. นำรายได้ทุกช่องทางตลอดทั้งปีนั้นมารวมกัน
2. หักค่าใช้จ่ายส่วนตัว ซึ่งแตกต่างกันตามประเภทของเงินได้ คือ
-
เงินได้ประเภทที่ 1 และ 2 : หักค่าใช้จ่ายรวมกันได้ไม่เกิน 50% ของเงินได้ และไม่เกิน 100,000 บาท (มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่จะอยู่ในข้อนี้ คือหักได้ไม่เกิน 100,000 บาท)
-
เงินได้ประเภทที่ 3 : หักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท หรือตามที่จ่ายจริง
-
เงินได้ประเภทที่ 4 : ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้
-
เงินได้ประเภทที่ 5 : หักค่าใช้จ่ายได้ 10-30% (ขึ้นอยู่กับประเภททรัพย์สิน) หรือหักตามจริง
-
เงินได้ประเภทที่ 6 : หักค่าใช้จ่ายได้ 30-60% (ขึ้นอยู่กับอาชีพ) หรือหักตามจริง
-
เงินได้ประเภทที่ 7 : หักค่าใช้จ่ายได้ 60% ของเงินได้ หรือหักตามจริง
-
เงินได้ประเภทที่ 8 : หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 40-60% ของเงินได้ หรือหักตามจริง
เงินได้พึงประเมิน คืออะไร แต่ละประเภทหักค่าใช้จ่ายได้เท่าไหร่
3. หักค่าลดหย่อนต่าง ๆ ที่เรามี เช่น ประกันสังคม, ประกันชีวิต, ประกันสุขภาพ, ค่าลดหย่อนบุตร, ช้อปดีมีคืน ฯลฯ
4. เหลือเงินเท่าไรจะเรียกว่า “เงินได้สุทธิ” ที่จะต้องนำมาคำนวณภาษีต่อไป
แต่ถ้ายังคำนวณไม่ถูก ลองเช็กวิธีคำนวณภาษีเงินได้ ที่นี่
ลดหย่อนภาษี 2567 มีอะไรบ้าง
สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับมนุษย์เงินเดือนและฟรีแลนซ์มีอยู่หลายประเภท อาจแบ่งเป็นหมวดใหญ่ ๆ ได้ดังนี้
-
หมวดลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว
-
หมวดประกันชีวิตและสุขภาพ
-
หมวดลงทุนเพื่อการออมและการเกษียณ
-
หมวดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
-
หมวดเงินบริจาค
-
ลดหย่อนภาษีพิเศษเพิ่มเติม
ตามมาอ่านรายละเอียดของแต่ละกลุ่มว่ามีค่าลดหย่อนเท่าไรบ้าง
ลดหย่อนภาษี
หมวดลดหย่อนส่วนตัว
และครอบครัว
1. ค่าลดหย่อนส่วนตัว
2. ค่าลดหย่อนจากคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้
เงื่อนไข
-
ใช้สิทธิลดหย่อนได้ 60,000 บาท
-
ต้องเป็นสามี-ภรรยาที่จดทะเบียนสมรส
-
คู่สมรสต้องไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้แต่เลือกนำมาคำนวณภาษีพร้อมกัน ไม่ได้แยกยื่นภาษี
3. ลดหย่อนภาษี ฝากครรภ์และคลอดบุตร
เงื่อนไข
-
หักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท ต่อการคลอดบุตร 1 ครั้ง
-
ต้องเป็นค่าใช้จ่ายฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรในช่วงวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2567
-
สำหรับคนที่ตั้งครรภ์ปี 2567 แต่จะไปคลอดบุตรปี 2568 ให้ลดหย่อนตามปีที่ใช้สิทธิ แต่ไม่เกิน 60,000 บาท เช่น จ่ายค่าฝากครรภ์ในปี 2567 จำนวน 20,000 บาท ก็จะสามารถหักลดหย่อนภาษีปี 2567 ได้ 20,000 บาท ส่วนสิทธิที่เหลืออีก 40,000 บาท นำไปใช้ในการคลอดบุตรปี 2568 ได้
-
กรณีคลอดบุตรแฝด สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 60,000 บาท เนื่องจากเป็นการตั้งครรภ์คราวเดียว
-
สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการตั้งครรภ์และคลอดบุตรมาหักลดหย่อนภาษีได้ ไม่ว่าทารกที่คลอดจะมีชีวิตรอดหรือไม่
-
สิทธิลดหย่อนภาษีดังกล่าวเมื่อนำไปรวมกับสิทธิการเบิกค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรจากสวัสดิการภาครัฐและเอกชนต้องไม่เกิน 60,000 บาท
4. ลดหย่อนภาษีบุตร
เงื่อนไข
-
ใช้สิทธิลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท
-
หากเป็นบุตรตามกฎหมาย สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ไม่จำกัดจำนวนบุตร
-
หากเป็นบุตรบุญธรรม สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน
-
กรณีมีทั้งบุตรตามกฎหมายและบุตรบุญธรรม ให้นำบุตรชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดมาหักก่อน แล้วจึงนำบุตรบุญธรรมมาหัก รวมกันได้ไม่เกิน 3 คน
-
กรณีมีบุตรชอบด้วยกฎหมายที่มีชีวิตอยู่รวมเป็นจำนวนตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป จะนำบุตรบุญธรรมมาหักไม่ได้
สำหรับตัวบุตรที่จะนำมาหักลดหย่อนภาษีต้องมีคุณสมบัติตามนี้ด้วย
-
บุตรมีอายุอยู่ระหว่างแรกเกิดจนถึง 20 ปี ในปีภาษีนั้น
-
หากบุตรมีอายุระหว่าง 21-25 ปี ในปีภาษีนั้น ต้องกำลังศึกษาในระดับอนุปริญญา (ปวส.) ขึ้นไป
-
หากบุตรมีอายุ 25 ปีขึ้นไป ในปีภาษีนั้น ต้องเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
-
บุตรต้องไม่มีเงินได้ในปีภาษีตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป (ยกเว้นเงินปันผล) หรือรายได้ที่มีนั้นได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย
5. ลดหย่อนภาษี บุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป
เงื่อนไข
-
ต้องเป็นบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป ที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป และต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย
-
ใช้สิทธิลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท (เมื่อรวมกับค่าลดหย่อนบุตรในข้อ 3 อีก 30,000 บาท ดังนั้น บุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตร รวม 60,000 บาท)
-
นับลำดับของบุตรทุกคนไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตาม
6. ลดหย่อนภาษี ค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา
เงื่อนไข
-
ใช้สิทธิลดหย่อนสำหรับบิดา-มารดาของตัวเอง และบิดา-มารดาคู่สมรส ได้คนละ 30,000 บาท ดังนั้น จะใช้สิทธิได้มากที่สุดคือ 4 คน จำนวนไม่เกิน 120,000 บาท
-
บิดา-มารดาต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ในปีภาษีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท
-
บิดา-มารดาออกหนังสือรับรองการเลี้ยงดู (ลย.03) ให้กับบุตรที่จะขอลดหย่อนภาษีด้วย
-
ลูกใช้สิทธิได้เพียงคนเดียวเท่านั้น เช่น หากลูกคนที่ 1 ใช้สิทธินี้ไปแล้ว ลูกคนอื่น ๆ ไม่สามารถใช้ได้อีก
7. ลดหย่อนภาษี ค่าอุปการะคนพิการหรือคนทุพพลภาพ
-
ใช้สิทธิได้ 60,000 บาทต่อคน
-
ต้องเป็นผู้ที่ดูแลคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
-
ผู้พิการต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือเป็นคนทุพพลภาพที่มีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
หมายเหตุ :
-
กรณีผู้พิการหรือทุพพลภาพเป็นบิดา-มารดา-บุตร-คู่สมรสของผู้มีเงินได้ สามารถใช้สิทธิรวมกันได้ เช่น บิดาอายุ 85 ปี เป็นผู้พิการ ไม่มีรายได้ เราสามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุด 90,000 บาท (ค่าลดหย่อนบิดา 30,000 + ค่าลดหย่อนอุปการะผู้พิการ 60,000 บาท)
-
กรณีคู่สมรสเป็นผู้พิการและไม่มีรายได้ สามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุด 120,000 บาท (ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 + ค่าลดหย่อนอุปการะผู้พิการ 60,000)
ลดหย่อนภาษี
หมวดประกันชีวิตและสุขภาพ
1. ลดหย่อนภาษี ประกันสังคม
ใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง คือ
-
มนุษย์เงินเดือน ซึ่งเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 สามารถลดหย่อนได้สูงสุด 9,000 บาท
-
ผู้ประกันตน มาตรา 39 สามารถลดหย่อนได้สูงสุด 5,184 บาท
-
ผู้ประกันตน มาตรา 40 สามารถลดหย่อนได้สูงสุด 3,600 บาท
2. ลดหย่อนภาษี ประกันชีวิต/ประกันสะสมทรัพย์
ใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท เมื่อทำประกันชีวิตทั่วไป ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือเปิดบัญชีเงินฝากเพื่อสงเคราะห์ชีวิต
เงื่อนไขประกันชีวิต/ประกันสะสมทรัพย์
- เป็นประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
- มีผลตอบแทนคืนไม่เกิน 20% ของเบี้ยสะสม (เงินปันผลหรือเบี้ยคืนรายปี)
- ต้องเป็นกรมธรรม์ที่ซื้อจากบริษัทประกันชีวิตที่ดำเนินกิจการในไทย
- หากเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี ถือว่าผิดเงื่อนไข จะไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
เงื่อนไขเงินฝากเพื่อสงเคราะห์ชีวิต
- ต้องเปิดบัญชีเงินฝากเพื่อสงเคราะห์ชีวิตกับธนาคารออมสิน หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
- ฝากเงินตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป โดยผู้มีเงินได้เป็นผู้ฝากเท่านั้น
- ได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนทุกปี ต้องไม่เกิน 20% ของเงินฝากรายปี
- หักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่ฝากเงินจริง แต่เมื่อรวมกับเงินที่ได้จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
3. ลดหย่อนภาษี ประกันสุขภาพตัวเอง
ใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมเบี้ยประกันชีวิตของตัวเองและเงินฝากสงเคราะห์ชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
เงื่อนไขประกันสุขภาพที่นำมาลดหย่อนภาษีได้
-
ประกันให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
-
ประกันอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
-
ประกันภัยโรคร้ายแรง
-
ประกันภัยการดูแลระยะยาว
4. ลดหย่อนภาษี ประกันชีวิตคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้
-
ใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
-
ต้องเป็นการซื้อประกันชีวิตให้คู่สมรสตามกฎหมายที่ไม่มีรายได้
-
ต้องเป็นสามี-ภรรยาตลอดทั้งปีภาษี หมายความว่า หากจะใช้สิทธิในปี 2567 จะต้องเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสมาก่อนปี 2566
5. ลดหย่อนภาษี ประกันสุขภาพบิดา-มารดา
ใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
เงื่อนไข
-
ใช้สิทธิได้ทั้งบิดา-มารดาของตัวเอง หรือบิดา-มารดาของคู่สมรส โดยต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนเกิน 30,000 บาทขึ้นไป
-
บิดาหรือมารดาต้องอยู่ในไทยไม่ต่ำกว่า 180 วัน ในปีภาษีนั้น
-
ลูกที่จะใช้สิทธิต้องเป็นบุตรตามกฎหมายเท่านั้น บุตรบุญธรรมไม่สามารถใช้สิทธิได้
-
ลูกสามารถใช้สิทธิได้หลายคน โดยหารเฉลี่ยกัน เช่น ลูก 2 คน ร่วมกันซื้อประกันสุขภาพให้บิดา จำนวน 15,000 บาท ดังนั้น ลูกแต่ละคนสามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพบิดาไปลดหย่อนภาษีได้คนละ 7,500 บาท
-
แบบประกันสุขภาพของบิดา-มารดาที่นำมาลดหย่อนภาษีได้จะต้องเป็นความคุ้มครองด้านใดด้านหนึ่งใน 4 ด้านเท่านั้น คือ ค่ารักษาพยาบาลหรือเงินชดเชย กรณีเจ็บป่วยทั่วไป, ค่ารักษาพยาบาลหรือเงินชดเชย กรณีอุบัติเหตุ, ประกันคุ้มครองโรคร้ายแรง และประกันคุ้มครองการพยาบาลสำหรับการเจ็บป่วยระยะยาว (Long Term Care)
ลดหย่อนภาษี
หมวดลงทุนเพื่อการออม
และการเกษียณ
1. ลดหย่อนภาษี กองทุนรวม Thai ESG
กองทุน Thai ESG หรือกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund) เป็นกองทุนรวมที่เลือกลงทุนในสินทรัพย์ในประเทศไทยที่เข้าเงื่อนไขการเป็น ESG คือ Environment (สิ่งแวดล้อม), S คือ Social (สังคม) และ G คือ Governance (ธรรมาภิบาล) โดยปัจจุบันมีการปรับเงื่อนไขเพื่อกระตุ้นตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เฉพาะในปี 2567-2569
เงื่อนไข
-
ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 30% ของรายได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท
-
ต้องซื้อระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2567 จึงจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในปี 2567 ได้
-
ต้องถือครองกองทุนรวม Thai ESG ไม่ต่ำกว่า 5 ปี นับจากวันที่ซื้อ หากขายก่อนครบกำหนดจะถือว่าทำผิดเงื่อนไขลดหย่อนภาษี และต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับการยกเว้น
-
ไม่นับวงเงินรวมกับกลุ่มลดหย่อนภาษีเพื่อการเกษียณอื่น ๆ
กองทุน Thai ESG ปี 2567 ปรับใหม่ ใช้ลดหย่อนภาษีมากกว่าเดิม เช็กเงื่อนไขเลย
2. ลดหย่อนภาษี SSF หรือ กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund)
กองทุนรวม SSF (Super Savings Fund) เป็นกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว ที่สามารถเลือกลงทุนได้หลายสินทรัพย์ เช่น ตราสารหนี้ หุ้น แบบผสม ทรัพย์สินทางเลือกอื่น ๆ
เงื่อนไข
-
ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 30% ของรายได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
-
ต้องซื้อระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2567 จึงจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในปี 2567 ได้
-
ถือครองอย่างน้อย 10 ปี (วันชนวัน) หากขายก่อนครบกำหนดจะถือว่าทำผิดเงื่อนไขลดหย่อนภาษี และต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับการยกเว้น
-
วงเงินที่ซื้อกองทุน SSF เมื่อรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนครูโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี
3. ลดหย่อนภาษี RMF หรือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund)
กองทุนรวม RMF (Retirement Mutual Fund) หรือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เป็นกองทุนรวมที่เน้นการออมในระยะยาว เพื่อให้เงินงอกเงยและสร้างความมั่นคงทางการเงินเมื่อเกษียณ
เงื่อนไข
-
ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 30% ของรายได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
-
ต้องซื้อระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2567 จึงจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในปี 2567 ได้
-
ต้องลงทุนต่อเนื่องจนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ (ซื้อแล้วต้องรอจนอายุ 55 ปี ถึงขายได้)
-
ต้องลงทุนอย่างน้อย 5 ปีเต็ม นับจากวันที่ลงทุนวันแรก โดยนับเฉพาะปีที่มีการซื้อหน่วยลงทุน คือปีใดไม่ลงทุนจะไม่นับว่ามีการลงทุนในปีนั้น
-
ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี หรืออย่างน้อยปีเว้นปี โดยไม่กำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำในการซื้อ
-
วงเงินที่ซื้อกองทุน RMF เมื่อรวมกับกองทุนรวม SSF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนครูโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี
4. ลดหย่อนภาษี กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
เงื่อนไข
-
ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30% ของรายได้
-
จำนวนเงินสมทบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เมื่อรวมกับกองทุนรวม SSF, RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนครูโรงเรียนเอกชน, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
5. ลดหย่อนภาษี กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)
เงื่อนไข
-
ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของรายได้ โดย 10,000 บาทแรก หักเป็นรายการลดหย่อน ส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 490,000 บาท หักเป็นรายการยกเว้นเงินได้ ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเงินได้เพื่อเสียภาษี โดยสามารถนำเงินส่วนเกินนี้ไปหักออกจากเงินได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายได้
-
จำนวนเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อรวมกับกองทุนรวม SSF, กองทุนรวม RMF, กบข., กองทุนครูโรงเรียนเอกชน, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
6. ลดหย่อนภาษี กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
เงื่อนไข
-
ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของรายได้
-
จำนวนเงินสมทบกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน เมื่อรวมกับกองทุนรวม SSF, RMF, กบข., กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
7. ลดหย่อนภาษี กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
เงื่อนไข
-
ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท
-
จำนวนเงินสมทบกองทุนการออมแห่งชาติ เมื่อรวมกับกองทุนรวม SSF, RMF, กบข., กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนครูโรงเรียนเอกชน ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
8. ลดหย่อนภาษี ประกันชีวิตแบบบำนาญ
เงื่อนไข
-
ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 15% ของรายได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
-
หากวงเงินที่ซื้อประกันชีวิตแบบทั่วไปยังไม่ครบ 100,000 บาท สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไปรวมกับสิทธิลดหย่อนประกันชีวิตทั่วไปให้ครบ 100,000 บาทก่อน ส่วนที่เหลือจึงสามารถใช้สิทธิเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญได้
-
แบบประกันบำนาญต้องจ่ายผลตอบแทนให้ผู้เอาประกันตั้งแต่อายุ 55 ปี ต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 85 ปี หรือมากกว่านั้น
-
ต้องเป็นประกันบำนาญที่มีระยะเวลาเอาประกัน 10 ปีขึ้นไป
-
ต้องเป็นกรมธรรม์ที่ซื้อจากบริษัทประกันชีวิตที่ดำเนินกิจการในไทย
-
วงเงินที่จ่ายเบี้ยประกันบำนาญ เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือกองทุนรวม SSF หรือกองทุนรวม RMF แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ลดหย่อนภาษี
หมวดกระตุ้นเศรษฐกิจ
1. ลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt (ช้อปดีมีคืน)
โครงการ Easy E-Receipt หรือบางคนเรียกว่า ช้อปดีมีคืน ให้สิทธิผู้เสียภาษีเงินได้สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการที่ตรงตามเงื่อนไข ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2567 มาใช้ลดหย่อนภาษีในปี 2567 ได้
เงื่อนไข
-
ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท
-
ต้องซื้อสินค้าหรือรับบริการ และจ่ายค่าสินค้าหรือค่าบริการนั้น ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2567
-
ต้องซื้อสินค้า-บริการจากร้านค้าที่ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากรเท่านั้น (ใบเสร็จหรือใบกำกับภาษีแบบกระดาษไม่สามารถใช้ได้)
-
สินค้าและบริการเหล่านั้นต้องเสียภาษี VAT หากเป็นสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษี VAT จะไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ยกเว้นสินค้า 3 รายการที่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีกับโครงการนี้ได้ คือ ค่าหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร E-book สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
2. ลดหย่อนภาษี เที่ยวเมืองรอง
เงื่อนไข
-
ต้องเป็นการเดินทางท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม - 30 พฤศจิกายน 2567
-
ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
-
ต้องเป็นค่าใช้จ่ายค่าที่พักในโรงแรม / ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย / ค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่ใช่โรงแรม / ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว
-
ต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice)
เที่ยวเมืองรอง ลดหย่อนภาษี ชี้พิกัด 55 เมืองรอง กับที่เที่ยวสวย ๆ ทั่วไทย
3. ลดหย่อนภาษี ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย
เงื่อนไข
-
ใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
-
เป็นดอกเบี้ยจากการกู้ซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างที่อยู่อาศัย เช่น บ้าน คอนโด โดยเราต้องอยู่อาศัยในบ้านหลังนี้ด้วย
-
ต้องเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินภายในประเทศ เช่น ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารของรัฐ สถาบันการเงินอื่น สหกรณ์ออมทรัพย์ โดยทรัพย์สินที่กู้ต้องใช้มาเป็นหลักในการค้ำประกันการกู้ (จำนอง) ด้วย
-
หากมีการกู้สำหรับที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 แห่ง สามารถใช้ลดหย่อนรวมกันได้ทุกแห่ง แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
-
กรณีกู้ร่วมกันหลายคน ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละเท่า ๆ กัน โดยไม่สนใจว่าผู้กู้ร่วมมีรายได้ที่จะเสียภาษีหรือไม่ และรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
4. ลดหย่อนภาษี ค่าสร้างบ้านใหม่ ปี 2567-2568
เงื่อนไข
-
ใช้สิทธิลดหย่อนได้ 10,000 บาท ต่อจำนวนค่าก่อสร้างที่จ่ายจริงทุก 1 ล้านบาท (ล้านละหมื่น) รวม VAT แล้ว สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
-
ต้องเซ็นสัญญาและเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2567 - 31 ธันวาคม 2568
-
ต้องเป็นการก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัยขึ้นใหม่ ไม่รวมถึงการเปลี่ยนแปลง ต่อเติม เพิ่ม ลด ขยาย ซ่อมแซม หรือรื้อถอนอาคาร
-
กรณีร่วมกันทำสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารหลายคน ให้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีโดยเฉลี่ยคนละเท่า ๆ กัน
-
ผู้ใช้สิทธิต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป สัญญาจ้างก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัย ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร หรือใบรับแจ้งการก่อสร้างอาคาร
-
ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ในปีภาษีที่ก่อสร้างอาคารเสร็จ โดยดูจากวันสิ้นสุดการก่อสร้างในสัญญาจ้างก่อสร้างอาคาร หรือใบอนุญาต ใบแจ้งการก่อสร้างอาคาร แล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง
5. ลดหย่อนภาษี เงินลงทุนธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)
เงื่อนไข
-
บุคคลธรรมดาใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
-
สำหรับบุคคลธรรมดาที่ลงหุ้น หรือลงทุนเป็นหุ้นส่วน (ทั้งกรณีจัดตั้งและเพิ่มทุน) ในธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป
-
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลของไทยนั้น ต้องจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ประเภทไม่ประสงค์แบ่งปันกำไร
-
ผู้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีต้องถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนจนกว่าวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นเลิกกิจการ เว้นแต่กรณีที่กำหนด
ลดหย่อนภาษี
หมวดเงินบริจาค
1. เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา
ใช้ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนที่บริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีอื่น ๆ
เงื่อนไข
-
ต้องเป็นสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด
-
ต้องบริจาคและบันทึกข้อมูลผ่านระบบ e-Donation เท่านั้น (หากบริจาคเป็นเงินสด ไม่ได้ผ่านระบบ e-Donation จะลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า)
2. เงินบริจาคให้แก่สถานพยาบาลของรัฐ
ใช้ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนที่บริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีอื่น ๆ
เงื่อนไข
-
ใช้ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เมื่อบริจาคให้สถานพยาบาลต่าง ๆ ของราชการ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา องค์การมหาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงสถานพยาบาลของสภากาชาดไทย
-
กรณีบริจาคให้มูลนิธิของโรงพยาบาลจะลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า ยกเว้น การบริจาคให้มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.), หน่วยไตเทียมมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย ณ ตึกกัลยาณิวัฒนา, โรงพยาบาลสงฆ์ และหน่วยไตเทียมมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย ณ ตึกศรีสังวาลย์ โรงพยาบาลอานันทมหิดล สามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า (ข้อมูลปี 2567)
-
ต้องมีหลักฐานใบเสร็จรับเงิน หรือมีการบันทึกข้อมูลบริจาคผ่านระบบ e-Donation ซึ่งส่งข้อมูลถึงกรมสรรพากรโดยตรง
ตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลของทางราชการที่หักลดหย่อนเงินบริจาคได้ 2 เท่า
3. เงินบริจาคสนับสนุนการกีฬา
ใช้ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนที่บริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีอื่น ๆ
เงื่อนไข
-
เป็นการบริจาคเงินให้หน่วยงานด้านกีฬาที่สังกัดสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย หรือกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ หรือกรมพลศึกษา
-
มีหลักฐานใบเสร็จรับเงิน หรือมีการบันทึกข้อมูลบริจาคผ่านระบบ e-Donation ซึ่งส่งข้อมูลถึงกรมสรรพากรโดยตรง
4. เงินบริจาคเพื่อการพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ
ใช้ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนที่บริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีอื่น ๆ
เงื่อนไข
ต้องบริจาคให้หน่วยงานเพื่อการพัฒนาสังคมผานระบบ e-Donation เช่น
-
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
-
กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา ตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ
-
กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข ตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
-
กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
-
กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ
-
มูลนิธิชัยพัฒนา
-
มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
5. เงินบริจาคให้แก่มูลนิธิด้านสาธารณสุข
ใช้ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนที่บริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีอื่น ๆ
เงื่อนไข
ต้องเป็นการบริจาคเงินให้แก่กลุ่มมูลนิธิด้านสาธารณสุขดังต่อไปนี้ ผ่านระบบ e-Donation
-
ศิริราชมูลนิธิ
-
มูลนิธิจุฬาภรณ์
-
มูลนิธิโรคมะเร็ง โรงพยาบาลศิริราช
-
มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี
-
มูลนิธิสมเด็จพระปิ่นเกล้า
-
มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
-
มูลนิธิโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
-
มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กองทัพเรือ ในพระบรมราชินูปถัมภ์
-
มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
-
มูลนิธิสนับสนุนสถาบันประสาทวิทยา
-
มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก
-
มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
-
มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
6. เงินบริจาคให้สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)
ใช้ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนที่บริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีอื่น ๆ
เงื่อนไข
- ต้องเป็นการบริจาคเงินให้สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (สบร.) ผ่านระบบ e-Donation
- มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 - 31 ธันวาคม 2569
1. เงินบริจาคทั่วไป
สามารถใช้หักลดหย่อนภาษีได้ตามที่บริจาคจริง แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว
เงื่อนไข
-
เป็นการบริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศลให้แก่วัดวาอาราม มูลนิธิ สมาคม สถานสาธารณกุศล สถานสงเคราะห์ ฯลฯ
ตรวจสอบรายชื่อมูลนิธิ สมาคม สถานสาธารณกุศล ที่หักลดหย่อนเงินบริจาคได้
2. เงินบริจาคให้พรรคการเมือง
ลดหย่อนภาษีพิเศษเพิ่มเติม
ลดหย่อนภาษีค่าซ่อมบ้าน-ซ่อมรถช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง มาตรการภาษีช่วยค่าซ่อมบ้านและช่วยค่าซ่อมรถ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2567 เป็นต้นมา ดังนี้
- เฉพาะผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดา นำค่าซ่อมแซมบ้าน เช่น ค่าทาสีบ้าน ค่ากระเบื้อง ค่าฝ้าเพดาน ค่าหลังคา ค่าอิฐ และค่าปูนที่ใช้ในการซ่อมแซม ที่จ่ายไปในระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม - 31 ธันวาคม 2567 มาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 100,000 บาท กรณีมีบ้านมากกว่า 1 แห่ง ต้องรวมทุกแห่งไม่เกิน 100,000 บาท
- บ้านที่ได้รับความเสียหายต้องอยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยหรือเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
- เฉพาะผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดา นำค่าซ่อมแซม หรือค่าวัสดุ หรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถ หรืออุปกรณ์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในรถที่เสียหายจากอุทกภัย ในช่วงวันที่ 16 สิงหาคม - 31 ธันวาคม 2567 มาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 30,000 บาท กรณีมีรถมากกว่า 1 คัน ต้องรวมทุกคันไม่เกิน 30,000 บาท
- รถที่เสียหายต้องอยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยหรือเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน